Tumgik
#ตัวจิตใจของเรา
oopsple · 4 months
Text
พุทโธให้รู้สึกตัว พุทโธตัวจริงก็คือตัวจิตใจของเรา พระธรรมเทศนาเช้าวันพุธที่ 22 พฤษภาคม 2567 ท่านพระอาจารย์ ปราโมทย์ ปาโมชฺโช (วัดสวนสันติธรรม) “ขอบุญที่เกิดนี้ไปถึงทุกเชื้อโรคและนายเวรที่ผ่านแล้วและ ทำงานแล้ว จงได้บุญนี้ข้าพฯขอขมาในความผิดในกาลก่อน”
•อย่างหลวงพ่อเข้าไปหาครูบาอาจารย์สายวัดป่าหลายองค์ ท่านสอนหลวงพ่อให้ดูจิตดูใจตัวเอง กระทั่งการพุทโธ ไม่ใช่พุทโธเพื่อจะพุทโธ ไม่ใช่พุทโธให้จิตสงบ ท่านสอนไปอีกระดับหนึ่ง ท่านสอนพุทโธให้รู้สึกตัว บางองค์ท่านพูดชัด อย่างหลวงปู่บุญจันทร์ ถ้ำผาผึ้ง ท่านพูดชัดเจนเลยว่า ให้บริกรรมไป “พุทโธใจรู้ พุทโธรู้ใจ” “พุทโธใจรู้ พุทโธรู้ใจ” เห็นไหมพุทโธแล้วมาที่ใจ ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านก็สอน พุทโธก็คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อะไรคือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็จิตใจของเราที่มันมีความรู้เนื้อรู้ตัว มันตั้งมั่น มันก็เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
หลวงพ่อไปเรียนจากครูบาอาจารย์รุ่นก่อนๆ ท่านจะสอนคำว่า “ผู้รู้” ไปวัดไหนก็พูดแต่คำว่า “ผู้รู้” พุทโธ พุทโธคือจิต จิตคืออะไร จิตคือผู้รู้ หลังๆ ธรรมะมันกร่อนลง มันกลายเป็นว่าพุทโธเพื่อจะพุทโธไปเรื่อยๆ ให้จิตมันนิ่งๆ ถามว่าดีไหม ก็ดีเหมือนกัน แต่ดีแบบสมถะ นิ่งๆ ไป แต่ถ้าพุทโธใจรู้ พุทโธแล้วรู้ใจตัวเอง พุทโธเป็นสิ่งที่ใจไปรู้เข้า พุทโธแล้วคอยรู้เท่าทันใจตัวเองไว้ เราก็จะได้พุทโธตัวจริง ไม่ใช่คำพูดว่าพุทโธ พุทโธตัวจริงก็คือตัวจิตใจของเรานั่นเอง
หลวงปู่เทสก์ หลวงพ่อเข้าไปเรียนด้วย ท่านก็สอนสิ่งเหล่านี้ แต่ท่านบัญญัติศัพท์เฉพาะของท่านขึ้นมา ท่านบัญญัติคำว่า “จิต” กับคำว่า “ใจ” ท่านบอกจิตคือผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ใจคือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ให้ปฏิบัติไป แล้วก็สุดท้ายจิตมันยกระดับขึ้นมาเป็นใจ คือเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตมันคิดนึกปรุงแต่ง ถ้าเรารู้เท่าทันความปรุงแต่ง จิตพ้นจากความปรุงแต่งก็เข้ามาเป็นใจ ก็จะสอน หลวงปู่ดูลย์ท่านก็สอนบอกว่า “คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็อาศัยคิด”
คำว่า “รู้” ก็คือตัวจิตผู้รู้นั่นล่ะ จิตผู้รู้มันจะเกิดขึ้น ถ้าเราคิดอยู่ มันก็มีแต่จิตผู้คิด แต่ถ้าเรารู้ว่าจิตคิด จิตคิดจะดับ จิตผู้รู้จะเกิด เพราะฉะนั้นหลวงปู่ดูลย์ไม่ได้สอนว่าอย่าไปคิด ท่านไม่ได้สอนว่าอย่าคิด หลวงพ่อเคยทำผิด จะไปดูจิต รู้ว่าจิตเป็นคนรู้ ก็จะพยายามฝึกไม่ให้มันคิด หลวงปู่บอก “ทำผิดแล้ว จิตเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ไปทำจนมันไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง อันนั้นใช้ไม่ได้ ให้ตามรู้ตามดูจิตใจตัวเองไป”
หลวงพ่อก็พบว่า ถ้าจิตมันหลงคิด จิตรู้ก็ไม่เกิด แต่ถ้าเรารู้ว่าจิตหลงคิด จิตรู้จะเกิดเพราะฉะนั้นท่านถึงบอกว่า “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็ต้องอาศัยคิด” ประโยคที่ 3 คนเรียนรุ่นหลังๆ ก็กร่อนไปแล้ว ลืม พูดกันแค่ว่า “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้” จบแค่นี้ ธรรมะครูบาอาจารย์มันกร่อน ก็เลยพยายามที่จะไม่คิด พยายามไม่คิดก็คือปรุงแต่งอีกแบบหนึ่ง เรียกอเนญชาภิสังขาร ใช้ไม่ได้ ไปดัดแปลงธรรมชาติของจริงไป
เพราะฉะนั้นที่หลวงปู่ดูลย์สอน มันมี 3 ประโยค “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็อาศัยคิด” “แต่ก็อาศัยคิด” ก็คือ ให้จิตมันคิดไปตามธรรมชาตินั่นล่ะ แต่พอจิตมันคิดไป แล้วจิตเราหลงไปตามความคิดปุ๊บ เรามีสติรู้ รู้ว่าจิตคิด จิตคิดจะดับ จิตรู้จะเกิด แล้วเราก็ไม่รักษาจิตรู้ไว้ เดี๋ยวมันก็คิดใหม่ คิดใหม่ รู้ใหม่ จิตรู้ก็เกิดอีก ไม่ใช่ห้ามความคิด ถ้าห้ามความคิด จิตก็จะติดความปรุงแต่งชนิดที่ 3 เรียกอเนญชาภิสังขาร
ความปรุงแต่งมี 3 อย่าง ปุญญาภิสังขาร ปรุงบุญ ปรุงฝ่ายดี อปุญญาภิสังขาร ปรุงฝ่ายชั่ว อเนญชาภิสังขาร พยายามไม่ปรุง เพราะฉะนั้นถ้าเราพยายามไม่ให้จิตคิด ก็คือพยายามไม่ปรุง รากเหง้าของมันก็คืออวิชชา ฉะนั้นเราไม่ได้ห้าม จิตจะคิด แต่จิตคิดแล้วเรามีสติรู้ว่า อ้อ นี่หลงคิดแล้ว ถ้าเรารู้ว่าหลงคิด จิตหลงคิดจะดับ จิตรู้จะเกิด ฝึกบ่อยๆ•
#ท่านพระอาจารย์ ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
#วัดสวนสันติธรรม #พุทโธให้รู้สึกตัว #พุทโธตัวจริง #ตัวจิตใจของเรา #คำว่า“รู้”ก็คือตัวจิตผู้รู้ #ผู้รู้ #พุทโธ #พุทโธคือจิต #จิตผู้รู้
0 notes